ความรู้เกี่ยวกับไรฝุ่น
ไรฝุ่นกับการก่อโรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารที่เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” หรือ “allergen” อาการของโรคภูมิแพ้ที่เกิดในผู้ป่วยได้แก่ จมูกอักเสบภูมิแพ้(allergic rhinitis) เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) หืดภูมิแพ้ (atopic asthma) และผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) อย่างไรก็ดีโรคภูมิแพ้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เกิดขึ้นเฉพาะกับบุคคลที่ระบบภูมิคุ้มกันมีภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ต่อสารก่อภูมิแพ้เท่านั้นประมาณร้อยละ 30 ของประชากรเด็ก คนไทยมีภาวะของโรคภูมิแพ้ ซึ่งนอกจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมแล้วการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติและสภาพของที่อยู่อาศัย ในปัจจุบันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชักนำให้ประชากรเป็นโรคภูมิแพ้ได้ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่าประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แสดงการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่นมากกว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ
ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของไรฝุ่น ไรฝุ่นไม่ชอบแสงสว่างจึงอาศัยหลบซ่อนตัวตามซอกมุมมืดต่างๆในบ้าน เช่น ห้องนอน ที่นอน หมอน ผ้าห่ม โซฟา พรมและเฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยวัสดุเส้นใย ซึ่งสามารถสะสมฝุ่นได้ดี ไรฝุ่นกินเศษผิวหนังและรังแคของคนและสัตว์สปอร์ของเชื้อราและสารอินทรีย์ต่างๆในฝุ่นเป็นอาหาร นอกจากอาหารแล้ว ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไรฝุ่นได้แก่อุณหภูมิและความชื้นจากการศึกษาวิจัยพบว่าสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไรฝุ่น คือ ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-28 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70-80 ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นจึงมีสภาพที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไรฝุ่นเป็นอย่างดี ไรฝุ่นมีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) วงจรการเจริญเติบโตของไรฝุ่นประกอบด้วยระยะไข่ (egg) มีลักษณะกลมรีสีขาวขุ่นและมีสารเหนียวห่อหุ้มภายนอกเพื่อช่วยให้ยึดเกาะกับเศษฝุ่นได้ง่ายขึ้นระยะตัวอ่อน 6 ขา (larva) ระยะตัวอ่อน 8 ขา (nymph) ซึ่งมีสีขาวใสและระยะตัวเต็มวัย (adult) ไรฝุ่นใช้เวลาในการเจริญเติบโตจากระยะไข่จนเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 4 สัปดาห์ตัวเต็มวัยมีอายุขัยประมาณ 1 เดือนขึ้นกับสภาพอุณหภูมิและความชื้นไรฝุ่นสามารถผสมพันธุ์กันได้หลายครั้งไรฝุ่นตัวเมียวางไข่ 1-3 ใบต่อวันโดยเฉลี่ยแล้วไรฝุ่นหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 40-80 ฟอง |
ความรู้เกี่ยวกับปลวก ความรู้เกี่ยวกับมด ความรู้เกี่ยวกับแมลงสาบ ความรู้เกี่ยวกับหนู ความรู้เกี่ยวกับยุง ความรู้เกี่ยวกับมอด ความรู้เกี่ยวกับเรือด |